top of page

พันตรี พระยาสุเรนทร์ (ราชเสนา)
(พึ่ง  สิงหเสนี)
ผู้สร้างวัดพระยาสุเรนทร์

                                                                         

 

                                                                       ประวัติพระยาสุเรนทร์


พันตรีพระยาสุเรนทร์ราชเสนา  (พึ่ง  สิงห์เสนี) เป็นบุตรของท่านเจ้าพระยามุขมนตรี (เกด  สิงหเสนี) มารดาชื่อ นางนาค  กัลาณสุต มีพี่น้องทั้งหมด  ๑๒  คน ท่านพระยาสุเรนทร์เป็นบุตรคนที่  ๘

๑. เป็นชายชื่อ สาด ท่านผู้หญิง นก เป็นมารดา 

๒. เป็นชายชื่อ อิ่ม ท่านผู้หญิง นก เป็นมารดา ต่อมาเป็นพระยากำแพงสงคราม 

๓. เป็นชายชื่อ เนียม ท่านผู้หญิง นกเป็นมารดา ต่อมาเป็นพระยาราชโยธา 

๔. เป็นหญิงชื่อ ฉิม ท่านผู้หญิง นก เป็นมารดา 

๕. เป็นชายชื่อ เอม ท่านผู้หญิง อิน (อภัยวงศ์) เป็นมารดา ต่อมาเป็นพระยาณรงค์ เรืองฤทธิ์ 

๖. เป็นหญิงชื่อ ศิลา ท่านผู้หญิง อิน (อภัยวงศ์) เป็นมารดา ต่อมาเป็นคุณหญิงอร่าม มณเฑียร (ม.ร.ว.ใหญ่) 

๗. เป็นชายชื่อ ทองคำ สุด กัลยาณสุต เป็นมารดา ต่อมาเป็นพระโยธาธิราช 

๘. เป็นชายชื่อ พึ่ง นาค กัลยาณสุต เป็นมารดา ต่อมาเป็นพันตรีพระยาสุเรนทร์ ราชเสนา 

๙. เป็นชายชื่อ คล้าย เป็นมหาดเล็ก 

๑๐. เป็นชายชื่อ สวัสดิ์ เป็นหลวงภักดีนุรักษ์ 

๑๑. เป็นชายชื่อ หอม เป็นหลวงพิทักษ์สาล 

๑๒. เป็นหญิงชื่อ ปรางค์ เป็นภรรยาพระภานุพันธุวงศวรเดช (จ้อย)


พันตรีพระยาสุเรนทร์ราชเสนา ภรรยาชื่อ ท่านคุณหญิงสุเรนทร์ ราชเสนา (บุญมี  สิงหเสนี) รับราชการทหารสืบทอดความเป็นนักรบ ผู้กล้าหาญ จากบรรพบุรุษสืบต่อจากผู้เป็นปู่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก คู่พระทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กกรมพระราชวังบวรไชยชาญ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ จนได้รับรับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมได้ดำรง

ตำแหน่งตามลำดับดังต่อไปนี้
- เมื่ออายุได้  ๑๕  ปี  ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
- เมื่ออายุได้  ๑๗  ปี  กรมพระราชวังบวรฯโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงจำนงบริรักษ์ในกรมมหาดเล็ก
- เมื่ออายุได้  ๑๙  ปี  กรมพระราชวังบวรฯโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาโยธาธิราชครั้งกรมพระยาบวรฯทิวงคตแล้ว  ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯลงมาสมทบในพระบรมมหาราชวังพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  ๕  ทรงโปรดเกล้าให้เป็นพระยาสุเรนทร์ราชเสนา  ได้เป็นพระยาเมื่ออายุ  ๓๐ ปี  แล้วภายหลังพระยาสุเรนทร์ได้รับสัญญาบัตรเป็นนายพันตรีในกรมยุทธนาธิการทหารบก
พันตรีพระยาสุเรนทร์ราชเสนา  มิได้สืบทอดแต่ความเป็นนักรบจากต้นตระกูลสิงหเสนีเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้สืบทอดความจงรักภักดี  แด่พระมหากษัตริย์และสืบทอดพระพุทธศาสนาด้วย  โดยเมื่อวันที่ ๒๕  เมษายน  ๒๔๒๕  ท่านได้สร้าง วัดพระยาสุเรนทร์ หรือ วัดบึงพระยาสุเรนทร์   บนเนื้อที่ของตนเองที่แขวงมีนบุรี (เขตคลองสามวาปัจจุบัน) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้บรรพชาเป็นสามเณรด้วยศรัทธาอันแน่วแน่  จนกระทั่งมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ด้วยโรคชรา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อม ให้เจ้าพนักงานส่งหีบเพลิง พระราชทานเพลิงศพอันเป็นเกียรติยศยิ่งแก่ พันตรีพระยาสุเรนทร์ราชเสนาและวงศ์ตระกูลสืบมาในวันที่  ๒๖  ตุลาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙ ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทยฝ่ายพระราชวังบวรฯ ที่แขวงเมืองมีนบุรีพระราชทานเงิน ๑,๐๐๐ สตางค์  ผ้าขาว  ๒  พับ

                                                                                การก่อสร้างวัด


ได้ก่อตั้งวัดพระยาสุเรนทร์ขึ้นเมื่อวันที่  ๒๕  เมษายน  พ.ศ.  ๒๔๒๕  ตรงกับวันอังคาร   ขึ้น  ๗  ค่ำ เดือน  ๖ ร.ศ  ๑๐๑  โดยทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ประจำวัดขึ้น เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ ) และได้พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันพุธ  แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑พ.ศ.๒๔๓๑ ปัจจุบันวัดพระยาสุเรนทร์ มีอายุ  ๑๒๕  ปี อุโบสถมีอายุ  ๑๑๙  ปี มีท่านพระครูสังฆรักษ์โสภณ (หลานทวด) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระยาสุเรนทร์ องค์ปัจจุบัน

ประวัติด้านวิทยาคมของ ท่านพระยาสุเรนทร์

 

จากคำบอกเล่าของ ท่านอธิการดวง สิงหเสนี อดีตเจ้าอาวาสวัดบึงพระยาสุเรนทร์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของ เจ้าพระยาสุเรนทร์ ได้สืบเสาะเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระสมเด็จบึงพระยาสุเรนทร์ โดยสอบถามจากโยมบิดา (คุณปู่  ชุ่มบุตรชายคนโต ของท่านเจ้าพระยาสุเรนทร์) และผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทันยุคทันสมัยของพระยาสุเรนทร์ นั้น พอสรุปได้ว่า ท่านพระยาสุเรนทร์เดิมทีเป็นผู้สนใจในวิชาอาคม และได้รับการถ่ายทอดการปลุกเสกน้ำมันมนต์วิเศษของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (ปู่ของท่าน) สำหรับออกทัพจับศึกให้ผิวหนังคงกะพันชาตรี ทนต่อศาสตราวุธทั้งปวงและก่อนที่ท่านจะบรรพชาเป็นสามเณร ยังสืบเสาะหา พระเกจิอาจารย์จอมขมังเวท ขอถ่ายทอดวิชาอาคมแขนงต่าง ๆ รวมทั้งขอผงวิเศษ และว่านศักดิ์สิทธิ์นานาชนิดเก็บรวบรวมรักษาไว้กระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรได้ดำริสร้างพระพิมพ์ขึ้นด้วยตนเอง (พระกรุบึงพระยาสุเรนทร์) โดยดำเนินการด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแกะพิมพ์พระด้วยงาช้าง,ผสมผงกดพิมพ์พระ และการปลุกเสกพระกรุบึงพระยาสุเรนทร์

bottom of page